เกี่ยวกับโครงการ
- หมวด: เกี่ยวกับโครงการ
- เผยแพร่เมื่อ: วันศุกร์, 06 ธันวาคม 2562 07:55
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 4460
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน
สำนักชลประทานที่ 3
กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน เป็นโครงการที่ขอจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2556 มีอาคารหัวงานตั้งอยู่ที่ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก พื้นที่โครงการครอบคลุม 3 จังหวัด 5 อำเภอ คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 312,600 ไร่ อาคารหัวงานจำนวน 2 แห่ง รับน้ำจากแม่น้ำน่าน โดยการทดน้ำของเขื่อนนเรศวร สามารถรับน้ำเข้าเขตโครงการฯ รวมกันได้สูงสุด 25 ลบ.ม.ต่อวินาที ปัจจุบันพื้นที่แห่งน้ำเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน แต่มีการใช้น้ำจากแม่น้ำน่านในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำทุกปี จึงมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ ทำให้ต้องมีการพิจารณาเสนอขอจัดตั้งเป็นโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีกด้วย
สภาพโดยทั่วไปของจังหวัดพิษณุโลก
ที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดพิษณุโลกตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยห่างจากกรุงเทพมหานคร 377 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับ 6 จังหวัด คือ อุตรดิตถ์ เลย เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัยและจังหวัดพิษณุโลก มีเนื้อที่ประมาณ 10,815.85 ตารางกิโลเมตร หรือ 6,759,909 ไร่ โดยแบ่งเขตการปกครองเป็น 9 อำเภอ 93 ตำบล 1,048 หมู่บ้าน 16 เทศบาล(เทศบาลนคร 1 แห่ง และเทศบาลตำบล 15 แห่ง) องค์การบริหารส่วนตำบล 86 แห่ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง
สภาพภูมิประเทศ
จุดเด่นทางธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลก คือมีลักษณะพื้นที่ที่มีความหลากหลาย
ทางธรรมชาติ เนื่องจากลักษณะพื้นที่ทางตอนเหนือ ทางตะวันออก และตอนกลางบางส่วนเป็นเขตภูเขาสูง ที่ราบสูงและลาดเอียงลงมาทางตอนกลาง ทางตะวันตก และทางตอนใต้จนเป็นพื้นที่ราบกับพื้นที่ราบลุ่ม ทำให้สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ทุกสาขา เช่น สาขาป่าไม้ สาขาพืช สาขาประมง และสาขาปศุสัตว์ โดยเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอพรหมพิราม อำเภอบางกระทุ่มและอำเภอบางระกำ จะเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของจังหวัดที่ทำรายได้หลักให้กับจังหวัดพิษณุโลก นอกจากนี้ในเขตอำเภอบางระกำบริเวณพื้นที่ใกล้ลุ่มน้ำยม ทุกปีจะเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ราษฎรไม่สามารถปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ได้ อำเภอบางระกำจึงเป็นแหล่งรองรับน้ำในฤดูฝนและเป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำธรรมชาติและแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ทำรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ หากสามารถพัฒนาพื้นที่ตามศักยภาพให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดเพื่อการศึกษาและขยายปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำจืดรวมถึงการส่งเสริมพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์น้ำจะทำให้อำเภอบางระกำเป็นแหล่งทำประมงน้ำจืดที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลกได้ต่อไป
ความเป็นมาของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน
สืบเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนนเรศวร ที่ตำบลหนองแขม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.2520 ได้มีการขุดคลองผันน้ำไม่ให้ไหลผ่านบ่อก่อสร้าง โดยวางแนวคลองผันน้ำไปตามแนวคันกั้นน้ำระหว่างในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน ภายหลังการก่อสร้างเขื่อนนเรศวรเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2523 ราษฎรได้รวมตัวกันร้องขอใช้น้ำจากคลองผันน้ำและขอให้ก่อสร้างประตูน้ำปิด-เปิดที่ปากคลองผันน้ำเพิ่มเติมที่ริมแม่น้ำน่าน เพื่อให้ราษฎรที่อยู่นอกเขตชลประทานได้มีโอกาสในการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกบ้าง ดังนั้น กรมชลประทานจึงก่อสร้างประตูระบายน้ำและปรับปรุงคลองผันน้ำให้เป็นคลองส่งน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรดังกล่าวตามคำร้องขอ
ต่อมาได้มีการพัฒนาคลองผันน้ำดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยการก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดเล็ก การขุดลอกคลอง และการดาดคอนกรีตคลอง รวมทั้งการปรับปรุงท่อลอดถนนให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้สามารถส่งน้ำได้เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้พื้นที่เพาะปลูกและการใช้น้ำมีการขยายตัวด้วยเหมือนกันจนก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำและการทะเลาะวิวาทอยู่เป็นประจำ มีผลให้เกษตรกรประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอยู่บ่อยครั้ง การแก้ไขปัญหาดังกล่าวในพื้นที่แห่งนี้ก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน จึงไม่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล
ปัจจุบันคลองผันน้ำสายนี้ได้ตั้งชื่อเป็น คลองชักน้ำแม่น้ำน่าน-คลองเมม และได้มีการก่อสร้างคลองชักน้ำจากแม่น้ำน่านเพิ่มเติมอีกในปี พ.ศ.2543 คือ คลองชักน้ำแม่น้ำน่าน-คลองวังขอน เพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอ คลองชักน้ำทั้ง 2 สายนี้ ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 312,600 ไร่ พื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดภายในโครงการฯนี้ จะถูกน้ำท่วมในช่วงปลายฤดูฝน ประมาณ 1-3 เดือน ดังนั้น ในช่วง 1 ปี จะสามารถทำการเพาะปลูกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง การใช้น้ำช่วงฤดูฝนจะมีปัญหาด้านการระบายน้ำส่วนในช่วงฤดูแล้งจะเกิดปัญหาด้านการขาดแคลนน้ำ โดยเมื่อก่อนจะไม่ได้รับโควตาน้ำในช่วงฤดูแล้ง จึงมีข้อขัดแย้งการใช้น้ำกันมาก ปัจจุบันกรมชลประทาน และสำนักชลประทานที่ 3 ได้จัดสรรโควตาน้ำจากโควตาการใช้น้ำประเภทอื่นๆ ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยเหลือการเพาะปลูกข้าวนาปรัง โดยให้โครงการชลประทานพิษณุโลกเข้ามาดูแล โดยเข้ามาจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อลดปัญหาการแย่งน้ำ ซึ่งช่วยให้ปัญหาการใช้น้ำดีขึ้นในระดับหนึ่ง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2552 ได้เกิดสภาวะภัยแล้งโดยทั่วไปในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ท่านรองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา และท่านรองอธิบดีฝ่ายวิชาการได้เดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดพิจิตร เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552 และได้สั่งการให้เสนอพื้นที่เพาะปลูกแห่งนี้เป็นโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดสรรน้ำในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในระยะยาวต่อไป
ลักษณะโครงการ
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน เป็นโครงการประเภทรับน้ำนองในช่วงฤดูฝนจะอาศัยน้ำฝนทำการเพาะปลูกหากปริมาณฝนอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ไม่ต้องใช้น้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ แต่ในช่วงฤดูแล้งจะใช้น้ำแม่น้ำน่านจากเขื่อนสิริกิติ์ โดยการทดน้ำของเขื่อนนเรศวร เข้าสู่พื้นที่โครงการฯ ผ่าน ทรบ.ปากคลองชักน้ำแม่น้ำน่าน-คลองเมม และคลองชักน้ำแม่น้ำน่าน-คลองวังขอน คิดเป็นปริมาณน้ำที่ใช้ในช่วงฤดูแล้งจำนวน 160-180 ล้านลูกบาศก์เมตร
พื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ตั้งอยู่ทางด้านฝั่งขวาของแม่น้ำน่าน ทิศเหนือติดกับอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ทิศใต้ติดกับอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ทิศตะวันออกติดกับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล จังหวัดพิษณุโลก และทิศตะวันตกติดกับอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย กับแม่น้ำยม ที่ทำการโครงการตั้งอยู่ที่ ปตร.วังขี้เหล็ก ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก พิกัด N 1871500 E 617900 มีเขื่อนสิริกิติ์เป็นแหล่งน้ำต้นทุนซึ่งเขื่อนมีความจุ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายน้ำในช่วงฤดูแล้งประมาณ 4,000 – 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่เพาะปลูกภายในเขตโครงการฯ จำนวน 312,600 ไร่ ปัจจุบันการกระจายน้ำยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ จึงต้องมีการปรับปรุงคลองส่งน้ำอีกหลายสาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการชลประทาน
ปัญหาสำคัญในพื้นที่โครงการฯ คือในช่วงฤดูฝนจะประสบปัญหาน้ำท่วม จึงต้องมีการวางแผนการระบายน้ำให้รวดเร็วเพื่อไม่ให้ผลผลิตเสียหาย ส่วนในฤดูแล้งจะประสบปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอโดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ จะเป็นช่วงวิกฤติของการขาดแคลนน้ำ ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเดือดร้อนของเกษตรกร
ปริมาณน้ำต้นทุน
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่านมีคลองส่งน้ำสายหลัก จำนวน 2 สาย คือ คลองชักน้ำแม่น้ำน่าน – คลองเมม และคลองชักน้ำแม่น้ำน่าน – คลองวังขอน รับน้ำเข้าคลองส่งน้ำโดยการทดน้ำจากเขื่อนนเรศวร ซึ่งมีเขื่อนสิริกิติ์เป็นแหล่งน้ำต้นทุน การใช้น้ำของโครงการฯ อยู่ในการควบคุมของกรมชลประทาน โดยในช่วงฤดูฝนจะใช้น้ำจากแม่น้ำน่าน เฉพาะเมื่อเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งคิดเป็นปริมาณน้ำไม่มากนัก ส่วนในฤดูแล้งจะใช้น้ำจากแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งของลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยใช้โควตา การใช้น้ำประเภทอื่นๆ ประมาณ 160 – 180 ล้านลูกบาศก์เมตร ตลอดฤดูแล้ง เมื่อคิดเปรียบเทียบกับการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ในช่วงฤดูแล้งถือว่าน้อยมาก หรือคิดเป็น ร้อยละ 2.00 – 4.00 ปัจจุบันการใช้น้ำมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยขาดการควบคุมดูแลทำให้มีการใช้น้ำที่ฟุ่มเฟือยมากขึ้นด้วย
สภาพพื้นที่เพาะปลูก
พื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด 5 อำเภอ ดังนี้ จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 3 อำเภอ คืออำเภอพรหมพิราม อำเภอเมือง และอำเภอบางระกำ จังหวัดสุโขทัย จำนวน 1 อำเภอ คือ อำเภอกงไกรลาศ และจังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 1 อำเภอ คือ อำเภอพิชัย โดยแบ่งพื้นที่เพาะปลูกเป็นรายตำบล ดังนี้
จังหวัด |
อำเภอ |
ตำบล |
พื้นที่เพาะปลูก |
อุตรดิตถ์
พิษณุโลก |
พิชัย |
พญาแมน
บ้านใหม่สุขเกษม |
20,000 |